แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ป้องกัน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ป้องกัน แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ที่มา : สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง

ข้อมูลการติดโรคมาลาเรีย

โรคมาลาเรีย (Malaria) หรือไข้มาลาเรีย อาจรู้จักกันในชื่ออื่นฯ เช่น ไข้ป่า ไข้จับสั่น ไข้ป้าง ไข้ร้อนเย็น หรือไข้ดอกสัก เป็นต้น โรคมาลาเรียมีขอบเขตการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก ปัจจุบันมีประชากรกว่าสองพันล้านคน จาก 99 ประเทศทั่วโลกอาศัยอยู่ในบริเวณซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย  ประมาณว่าผู้ติดเชื้อทั่วโลก ประมาณ 500 ล้านราย และมีผู้เลียชีวิตกว่า 1 ล้านรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กในทวีปแอฟริกา โรคมาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยเช่นกัน แม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราป่วยและอัตราตายลดลง แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมาข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขใน ปี พ.ศ.2555 พบผู้ติดเชื้อมาลาเรียมากกว่า 34,000 ราย ในปี พ.ศ. 2556 ตั้งแต่มกราคมถึงเดือนตุลาคม มีผู้ป่วยทั้งประเทศจำนวน 12,000 ราย เสียชีวิต 12 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายแดน โดยจำนวนผู้ป่วยสูงสุดพบที่จังหวัดตาก ตามด้วยจังหวัดระนอง  แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรีและชุมพร นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่าผลการป้องกันควบคุมมาลาเรียของไทยตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมาได้ผลดี สามารถลดจำนวนผู้ป่วยจาก ปี พ.ศ.2541 ลงเกือบ 4 เท่าตัว กล่าวคือจากจำนวน 125,000 ราย ลดลงเหลือ 34,002 รายในปี พ.ศ. 2554 ปัญหาสำคัญขณะนี้คือการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียตามแนวชายแดน ที่พบมากที่สุดคือบริเวณชายแดนด้านไทย-พม่า และชายแดนไทย-กัมพูชา

Map1สาเหตุของการติดโรคมาลาเรียและชนิดของเชื้อมาลาเรียที่ติดต่อสู่คน

โรคมาลาเรีย เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวในจีนัส พลาสโมเดียม (Plasmodium ) ซึ่งมีมากกว่า 100 เชื้อชนิดที่ก่อโรคทั้งในคน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก และสัตว์เลื้อยคลาน แต่ที่ก่อโรคในคนเพียง 5 ชนิด ได้แก่ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium falciparum) พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ (P.vivax) พลาสโมเดียม มาลาริอี่ (P.malariae)  พลาสโมเดียม โอวาเล่ (P.ovale) และพลาสโมเดียม โนวไซ (P. knowlesi) เชื้อที่พบส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นชนิด พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม และ พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ ส่วนน้อยเป็นชนิดพลาสโมเดียม มาลาริอี่ พลาสโมเดียม โอวาเล่ และ พลาสโมเดียม โนวไซ ซึ่งชนิดสุดท้ายเป็นเชื้อมาลาเรียของลิงกัง ลิงแสม และค่างดำ ที่พบว่าติดต่อสู่คนได้

แหล่งระบาดของเชื้อมาลาเรียชนิดต่างๆ

  • เชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม พบในแถบทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย แม้จะพบได้ในเขตหนาวแต่จำนวนไม่มากนัก
  • พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ พบได้ทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น ได้แก่บริเวณแถบลาตินอเมริกา ตุรกี จีน และอินเดียตอนกลาง แต่พบได้น้อยในแถบแอฟริกา โดยเฉพาะแถบแอฟริกาตะวันตก
  • พลาสโมเดียม มาลาริอี่ พบได้ทั้งในเขตร้อนและใกล้เขตร้อน โดยเฉพาะในบริเวณทวีปแอฟริกาตะวันออก และประเทศอินเดียทางตะวันตก
  • พลาสโมเดียม โอวาเล่ พบในพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ได้แก่ แถบแอฟริกาตะวันตก ฟิลิปปินส์ แถบตะวันออกของอินโดนีเชีย ปาปัวนิวกินี บังคลาเทศ กัมพูชา อินเดีย ไทย เวียดนาม
  • พลาสโมเดียม โนวไซ พบได้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาร์ และ อินโดนีเชีย ในปี พ.ศ. 2547 ศ.นพ.ดร. สมชาย จงวุฒิเวศย์ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตรวจพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรียชนิดที่ 5 คือ พลาสโมเดียม โนวไซ (Plasmodium knowlesi) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อที่พบในลิงแสม มีลิงกัง ลิงแสมและค่างดำเป็นรังโรค พบมากในพื้นที่จังหวัดตาก จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา และนราธิวาส ดูจากฟิล์มเลือดเชื้อนี้มีรูปร่างความคล้ายคลึงกับพลาสโมเดียม มาลาริอิ จนไม่สามารถแยกจากกันด้วยการดูรูปร่างจากการดูฟิล์มเลือดได้
  • แหล่งระบาดของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทย  พบอยู่บริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-พม่า และไทย-กัมพูชา จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงมาโดยตลอดได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ตราด กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สระแก้ว และจันทบุรี รวมทั้งตามเกาะแก่งต่างๆ เนื่องจากมียุงก้นปล่องบางชนิดชอบวางไข่ในตามแหล่งน้ำกร่อยที่มีแสงแดดส่องถึงพบทางแถบชายทะเล ส่วนในบริเวณตอนกลางของประเทศ พบผู้ป่วยมาลาเรียได้น้อย และไม่พบการติดเชื้อในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล พบผู้ป่วยกระจายทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 10-35 ปี อัตราส่วนของผู้ป่วยเพศชายจะมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 2 เท่า พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน

ยุงพาหะนำโรคมาลาเรีย

โรคมาลาเรียติดต่อโดยการถูกยุงกัด ยุงพาหะนำโรคโรคมาลาเรียคือยุงก้นปล่องเพศเมีย (female Anopheles spp.) ที่เรียกอย่างนี้เนืองจากเวลาที่ยุงกัดคน มันจะเกาะโดยยกส่วนท้อง (abdomen) ขึ้นทำมุมกับผิวหนัง 45 องศา ในประเทศไทยมียุงก้นปล่องประมาณ 100 ชนิด แต่ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นยุงพาหะนำโรคมาลาเรียในประเทศไทยมีอย่างน้อย 6 ชนิด ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการแพร่เชื้อขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ เนื่องจากยุงพาหะมีแหล่งเพาะพันธุ์แตกต่างกัน ยุงก้นปล่องพาหะมี่สำคัญได้แก่
  1. Anopheles dirus พบในป่าทึบชอบออกไข่ตามแอ่งน้ำนิ่งขังตามธรรมชาติ ลักษณะนิสัยชอบกินเลือดคนมาก ไม่ชอบกินเลือดสัตว์อื่นออกหากินตอนกลางคืนถึงเช้ามืด แต่ถ้าป่าทึบมากๆ ก็หากินช่วงกลางวันด้วย ยุงชนิดนี้เป็นชนิดที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อมาลาเรียมากกว่ายุงพาหะชนิดอื่นในประเทศไทย
  2. An. minimus พบได้มากตามบริเวณชายป่าเชิงเขา ตลอดจนท้องที่ราบที่มีแหล่งน้ำลำธารไหลผ่าน ชอบเพาะพันธุ์ตามลำธารน้ำใสไหลริน มีแสงแดดส่องถึง และอาจพบตามบริเวณบ่อน้ำพุ และน้ำซับน้ำซึมที่ใสสะอาด มีหญ้าขึ้นปกคลุมตามขอบลำธารหรือบ่อน้ำ
  3. An. balabacensis พบได้ในบริเวณเทือกเขา ป่าดงดิบ หรือในภูมิประเทศที่มีสภาพคล้ายป่า เช่น สวนยาง สวนทุเรียน ชอบเพาะพันธุ์ตามบริเวณแหล่งน้ำขังใต้ร่มเงา หรือน้ำขังในรอยเท้าสัตว์ ตามบ่อที่คนขุดทิ้งไว้ ลักษณะน้ำค่อนข้างใสและมีใบไม้แช่ปนทับถมอยู่
  4. An. maculatus พบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย อาศัยตามบริเวณป่าโปร่งและตามเชิงเขา ป่าสวนยาง ชอบเพาะพันธุ์ตามบ่อน้ำพุ น้ำซับน้ำซึม ตามบริเวณป่าเชิงเขา นอกจากนี้ยังพบตามแอ่งหินน้ำขัง ตามลำธารมีต้นไม้ปกคลุมริมฝั่งที่มีแสงแดดส่องถึง
  5. An. sundaicus เป็นพาหะปรากฏอยู่ในแถบชายทะเล โดยเฉพาะตามบริเวณฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ตลอดจนเกาะแก่งต่าง ๆ ชอบเพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำกร่อยใกล้ทะเล มีแสงแดด ส่องถึงและมีสาหร่ายลอยอยู่ในน้ำ
  6. An. aconitus พบกระจายอยู่ทั่วไปในเกือบทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในท้องที่ราบ ทุ่งนา และตามบริเวณป่า สวนผลไม้ ชอบเพาะพันธุ์ตามน้ำขังในนาข้าว ร่องสวนหลุมบ่อที่มีน้ำขัง และตามลำธารน้ำไหลสะอาดมีพืชน้ำขึ้นตามริมลำธาร
ยุงเพศเมียมีปากที่เป็นท่อแหลมสำหรับดูดเลือดจากคนเพื่อเอาโปรตีนไปสร้างไข่ ออกหาเหยื่อเวลากลางคืนโดยใช้ปากที่มีลักษณะเป็นท่อเจาะผิวหนังเพื่อดูดกินเลือด กระบวนการนี้ตามปรกติจะดำเนินไปโดยเหยื่อไม่รู้ตัว เนื่องจากยุงจะปล่อยน้ำลายออกมาเพื่อทำหน้าที่เป็นยาชา ทำให้คนถูกกัดไม่รู้สึกเจ็บ ซึ่งน้ำลายนี่เองที่มีเชื้อมาลาเรีย ซึ่งยุงได้จากการไปกัดคนที่มีเชื้อระยะติดต่อมาก่อน

วงชีวิตและการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย

ในวงชีวิตของเชื้อมาลาเรียต้องการโฮสต์ 2 ชนิด คีอ คน และยุงก้นปล่องเพศเมียซึ่งเป็นพาหะนำโรค การติดเชื้อมาลาเรียเริ่มต้นเมื่อยุงที่ติดเชื้อมาลาเรียมากัดคน และปล่อยเชื้อมาลาเรียระยะติดต่อที่เรียกว่า สปอโรซอยต์ (sporozoite) เข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นเชื้อจะเข้าสู่เซลล์ตับ (hepatocyte) เจริญเติบโตเป็นเซลล์แม่เรียกว่าสคิซอนต์ (schizont) ซึ่งจะแบ่งตัวแบบไม่อาศัยเพศ (เรียกว่า hepatic schizogony หรือ exo-erythrocytic schizogony) เมื่อสคิซอนต์แบ่งตัวเส็รจสิ้นสมบูรณ์จะได้เซลล์ลูกเล็กๆเรียกว่าเมอโรซอยต์ (merozoite) จำนวนนับพัน หลังจากนั้นเซลล์แม่และเซลล์ตับจะแตกแล้วปล่อยเซลล์ลูกเข้าสู่กระแสเลีอดและเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดง (โดยเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม เข้าสู่เม็ดลือดแดงทุกอายุขัย      
พลาสโมเดียมไวแว็กซ์ และพลาสโมเดียม โอวาเล่ เลือกเข้าสู่เม็ดลือดแดงที่เพิ่งออกจากไขกระดูก (reticulocyte) ซึ่งมีจำนวนน้อย พลาสโมเดียม มาลาริอี่ เลือกเข้าสู่เม็ดลือดแดงที่จะหมดอายุขัยซึ่งมีจำนวนน้อยเช่นกัน ส่วน พลาสโมเดียม โนวไซ เข้าสู่เข้าสู่เม็ดลือดแดงทุกอายุขัย ความจำเพาะต่อเม็ดลือดแดงนี้มีผลทำให้ความหนาแน่นของเชื้อในเซลล์เม็ดแดงของเชื้อแต่ละชนิดแตกต่างกัน เช่น เชื้อพลาสโมเดียม  ฟัลซิพารัม ร้อยละ 2-60 พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ และพลาสโมเดียม โอวาเล่ ร้อยละน้อยกว่า1 พลาสโมเดียม มาลาริอี่ ร้อยละน้อยกว่า 0.1 พลาสโมเดียม โนวไซ ร้อยละมากกว่า 2) จากนั้นเชื้อจะเจริญเติบโตเป็นเซลล์แม่สคิซอนต์และแบ่งตัวด้วยกระบวนการไม่อาศัยเพศ (เรียกว่า erythrocytic schizogony) โดยผ่านการเจริญเติบโตเป็นระยะต่างๆ (ได้แก่ระยะ ring form, trophozoite และ schizont ตามลำดับ) เซลล์แม่เจริญเติบโตเต็มทีภายในมีเซลล์ลูกนับสิบ เมื่อเซลล์แม่และเซลล์เม็ดเลือดแดงแตกจะปล่อยเซลล์ลูกและเข้าสู่เซลล์เข้าเม็ดเลือดแดงอื่นๆ เจริญเติบโตแบ่งตัวเพิ่มจำนวนซ้ำเป็นวัฏจักรต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อแบ่งตัวแบบไม่อาศัยเพศในเม็ดเลือดแดงไปประมาณ 2-3 รอบแล้ว จะมีเซลล์ลูกจำนวนหนึ่งที่เข้าสู่เม็ดเลือดแดง และพัฒนาเป็นระยะแกมมีโตไซต์ (gametocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์สืบพันธุ์แกมมีต(gamete)ต่อไป แกมมีโตไซต์มีทั้งเพศผู้ (male gametocyte) และเพศเมีย (female gametocyte) เมื่อยุงก้นปล่องมากัดคนที่ติดเชื้อมาลาเรียก็จะได้รับเม็ดเลือดแดงที่มืเชื้อระยะแกมมีโตไซต์ซึ่งเป็นระยะติดต่อ (infective stage) เข้าไปในทางเดืนอาหารส่วนกลาง (midgut หรือ stomach) แกมมีโตไซต์เพศผู้จะเจริญและแบ่งตัวได้เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (male gamete) 8 เซลล์ เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้หนึ่งเซลล์จะไชเข้าไปในเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียซึ่งพัฒนามาจากแกมมีโตไซต์เพศเมีย และเกิดการปฏิสนธิได้เป็นไซโกต (zygote) จากนั้นไซโกตจะเจริญและเปลี่ยนรูปร่างจากกลมเป็นยาวรีเรียกว่าระยะโอโอไคนีต (ookinete) ซึ่งจะไชทะลุผนังของกระเพาะยุง และสร้างผนังมาหุ้มเป็นก้อนกลมแล้วเจริญเป็นโอโอซีสต์ (oocyst) เกาะอยู่ที่ผิวด้านนอกของกระเพาะยุง ต่อมาจะเกิดการแบ่งตัวภายได้เชื้อระยะติดต่อเรียกว่าสปอโรซอยต์ (sporozoite) ซึ่งมีจำนวนนับพัน เมี่อโอโอซีสต์เจริญเติบโดเต็มที่จะเกิดรูเปิดแล้วปล่อยสปอโรชอยต์ออกมา สปอโรชอยต์จะเคลี่อนตัวไปด้านหัวของยุงและไชเข้าสู่ต่อมน้ำลายของยุงปะปนอยู่กับน้ำลายยุง  และเมี่อยุงกัดคนใหม่ จะปล่อยระยะสปอโรซอยต์ซึ่งเป็นระยะติดต่อ (infective stage) เข้าสู่คนๆนั้น และเจริญเติบโตในคนตามวัฏจักรต่อไป การเจริญเติบโตตั้งแต่ยุงได้รับเชื้อจากคนจนได้ระยะติดต่อ
สปอโรชอยต์ในต่อมน้ำลายยุง ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ยุงที่มากัดคนสามารถติดเชื้อได้ตลอดระยะเวลาถ้าคนๆนั้นมีระยะติดต่อแกมีโตไซต์ในกระแสเลือด ผู้ป่วยติดเชื้อพลาสโมเดียม มาลาริอี่ ที่ได้รับการรักษาไม่เพียงพออาจจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ถึง 3 ปี หรือ 1-2 ปี แต่ในผู้ป่วยติดเชื้อ พลาสโมเดียมไวแว็กซ์ และพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม จะไม่เกิน 1 ปี
เชื้อพลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ และ พลาสโมเดียม โอวาเล่ เมื่อเข้าสู่เซลล์ตับแล้ว เชื้อจำนวนหนึ่งอาจจะไม่พัฒนาและแบ่งตัวในทันที แต่จะเข้าสู่ระยะพักที่เรียกว่าฮิบโนซอยต์ (hypnozoite) ซึ่งอาจอยู่ในระยะนี้ได้นานถึง 6-12 เดือน ไปจนถึง 8 ปี หลังจากเวลาดังกล่าวแล้ว เชื้อจึงจะเจริญและแบ่งตัวได้เซลล์ลูกเมอโรซอยต์อีกครั้ง เมอโรซอยต์ชุดใหม่นื้จะเข้าสู่กระแสเลือด และเจริญเติบโตตามขั้นตอนตามปกติต่อไป การมีระยะฮิบโนซอยต์นี้เอง ที่ทำให้โรคมาลาเรียที่เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม ไวแว็กซ์  และ พลาสโมเดียม โอวาเล่ มีระยะฮิบโนซอยต์ที่ฟักตัวนาน สามารถก่อโรคมาลาเรียกลับซ้ำ (relapse malaria) ได้อีกหลังจากรักษาหายขาดจากครั้งแรกแล้ว gonjv’0kdมีระยะฮิบโนซอยต์ที่ฟักตัวนาน โรคมาลาเรียกลับซ้ำได้อาจเกิดอีกหลายครั้งในเวลาหลายปี ถ้าไม่ได้ยาฆ่าฮิบโนซอยต์ให้หมดไปจากตับ สำหรับผู้ป่วย (ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) ที่มีภาวะบกพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G-6-PD deficiency) อย่างรุนแรง จะไม่สามารถกินยาไพรมาควินซึ่งเป็นยาฆ่าฮิบโนซอยต์ได้ เนื่องจากยานี้จะทำให้เม็ดเลือดแดงจำนวนมากของผู้ป่วยจะแตกซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ในกรณีเช่นนี้ต้องรอให้เชื้อออกจากตับแล้วเข้าเม็ดเลือดแดงก่อนจึงให้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจต้องทำการรักษาแบบนี้หลายครั้งจนกว่าฮิบโนซอยต์ในตับจะหมดไป
อาการของโรคมาลาเรียจะปรากฏหลังจากเชื้อเจริญในเม็ดเลือดแดงและเซลล์เม็ดเลือดแดงแตกในรอบแรก และรอบต่อๆไป เนื่องจากเมื่อเซลล์เม็ดเลือดแดงติดเชื้อแตก จะปล่อยตัวเชื้อมาลาเรียและสารต่างๆ ออกมารวมทั้งสารที่กระตุ้นร่างกายผู้ติดเชื้อให้เกิดอาการไข้จับสั่น ช่วงระยะตั้งแต่ยุงกัดคนจนเกิดอาการโรคเรียกว่าระยะฟักตัว
malaria1วงชีวิตของเชื้อมาลาเรียมาลาเรีย (9)

ระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการโรค

  • เชื้อพลาสโมเดียม  ฟัลซิพารัม ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน
  • พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ และ พลาสโมเดียม โอวาเล่ ระยะฟักตัวประมาณ 8-14 วัน
  • พลาสโมเดียม มาลาริอี่   ระยะฟักตัวประมาณ 18-40 วัน
  • พลาสโมเดียม โนวไซ ระยะฟักตัวประมาณ 12 วัน

การเกิดไข้ของโรคมาลาเรีย มีสาเหตุจากหลายประการ ได้แก่

  1. การจับไข้ครั้งแรกหลังจากระยะฟักตัว ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อครั้งแรก  (primary attack)
  2. การเกิดอาการไข้กลับซ้ำ(relapse)โดยพบเชื้อมาลาเรียในเลือดอีก หลังจากที่รักษาหายแล้วและไม่ได้รับเชื้อใหม่อีก อาการไข้กลับชนิดนี้พบได้ในผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียม  ไวแวกซ์ และ พลาสโมเดียม  โอวาเล่ เพราะมาลาเรียทั้งสองชนิดนี้มีเชื้อระยะหลบพักฮิบโนซอยต์ซึ่งสามารถหลบซ่อนอยู่ในเซลล์ตับและเจริญเติบโตขึ้นแล้วเข้าสู่เม็ดเลือดแดงอีก ทำให้เกิดอาการไข้กลับมาอีกครั้ง โดยทั่วไปแล้วอาการไข้กลับมักรุนแรงน้อยกว่า และระยะเวลาเป็นก็สั้นกว่าการเป็นไข้มาลาเรียในตอนแรก ส่วนเชื้อมาลาเรียชนิด ฟัลซิปารัม  และมาลาเรียชนิดมาลาริอี ไม่มีเชื้อระยะฮิบโนซอยต์ จึงไม่มีอาการไข้กลับ
  3. อาการไข้กลับซ้ำ (recrudescence) ที่เกิดจากเชื้อในเม็ดเลือดแดงดื้อต่อยารักษา เชื้อที่เหลือรอดจากการฆ่ากของยามีจำนวนน้อยมาก ต้องใช้เวลาในเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนถึงจำนวนหนึ่งจึงก่อให้เกิดอาการไข้มาลาเรียได้อีก การดื้อยาส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับเชื้อ พลาสโมเดียม ฟัลซิพาลัม ในปัจจุบันเชื้อนี้ดื้อต่อยาหลายขนาน ทำให้การรักษาต้องระมัดระวัง ถ้าให้ยาไม่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจเกิดอาการรุนแรงหรืออาการแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้ ส่วนพลาสโมเดียม มาลาริอี ก็สามารถทำให้เกิดอาการไข้กลับซ้ำ (recrudescence) ได้ แต่ไม่ได้เกิดจากการดื้อยา แต่เป็นเพราะเชื้อจำนวนน้อยมากๆ จะคงอยู่ในกระแสเลือดในปริมาณต่ำๆ ได้เป็นเวลานานหลายสิบปี มีรายงานพบอาการไข้กลับซ้ำเกิดขึ้นได้หลังการติดเชื้อครั้งแรกถึง 50 ปี และเมื่อไม่นานมานี้มีรายงานพบการของเชื้อพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ ดื้อต่อยาคลอดรควิน
  4. การติดเชื้อซ้ำใหม่ (reinfection) คือการเกิดอาการของโรคมาลาเรียโดยได้รับเชื้อใหม่ จากการถูกยุงกัดโหม่ ไม่ใช่เกิดจากการดื้อยา ไม่ใช่เกิดจากการมีเชื้อที่หลงเหลือค้างจากการรับเชื้อครั้งก่อน หรือเกิดจากการที่มีเชื้อหลบอยู่ในตับ

อาการแสดงของโรคมาลาเรียโดยทั่วไป

อาการและอาการแสดงของมาลาเรียไม่มีลักษณะพิเศษบ่งเฉพาะ โดยมากจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาการนี้จะเป็นเพียงระยะสั้น เป็นวัน หรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ ชนิดของเชื้อ จำนวนของระยะติดต่อสปอโรซอยต์ที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป ภาวะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อมาลาเรียของผู้ป่วย ภาวะที่ผู้ป่วยได้รับยาป้องกันมาลาเรียมาก่อน หรือได้รับยารักษามาลาเรียมาก่อนบ้างแล้ว
อาการจับไข้ ซึ่งเป็นอาการที่เด่นชัดของโรคมาลาเรียประกอบด้วย 3 ระยะคือ ระยะสั่น ระยะร้อน และระยะเหงื่อออก ปัจจุบันจะพบลักษณะทั้ง 3 ระยะได้น้อยมาก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยตลอดเวลา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นมาลาเรียครั้งแรก เนื่องจากในระยะแรกๆ ของการติดเชื้อมาลาเรีย เชื้ออาจเจริญถึงระยะแตกตัวไม่พร้อมกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากได้รับเชื้อจากตับในเวลาต่างกัน ทำให้เกิดมีเชื้อหลายระยะ ดังนั้นการแตกของเม็ดเลือดแดงจึงไม่พร้อมกัน ทำให้ผู้ป่วยมาลาเรียในระยะแรกอาจมีไข้สูงลอยตลอดวันได้ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งแล้วการแตกของเม็ดเลือดแดงพร้อมกัน จึงเห็นผู้ป่วยมีการจับไข้หนาวสั่นเป็นเวลาแยกได้ชัดเจนตามชนิดของเชื้อมาลาเรีย
  • พลาสโมเดียม ฟัสซิพารัม ใช้เวลาในการแบ่งตัว 42-48  ชั่วโมง จึงทำให้เกิดไข้ทุกวันที่ 3
  • เชื้อพลาสโมเดียมไวแวกซ์ และโอวัลเล่ ใช้เวลาในการแบ่งตัว 48 ชั่วโมง จึงทำให้เกิดไข้ทุกวันที่ 3
  • พลาสโมเดียม มาลาริอี ใช้เวลา 72 ชั่วโมง อาการไข้จึงเกิดทุกวันที่ 4
  • พลาสโมเดียม โนวไซ ใช้เวลา 24 ชั่วโมง อาการไข้จึงเกิดทุกวัน
ภายหลังที่เป็นมาลาเรียได้ระยะหนึ่ง จะตรวจพบว่าผู้ป่วยซีด บางคนมีตัวเหลือง ตาเหลือง ตับและม้ามโต บางรายกดเจ็บ ถ้าเม็ดเลือดแดงแตกมากๆ จะพบว่าผู้ป่วยมีปัสสาวะดำ
malaria2malaria3

อาการแสดงเฉพาะโรคมาลาเรียที่เกิดจากเชื้อชนิดต่างๆ

  • เชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม เป็นมาลาเรียชนิดที่รุนแรงและเป็นอันตรายมากที่สุด ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้เข้าไปและไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการรุนแรงเกิดเป็นมาลาเรียขึ้นสมองได้ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อเกาะติดกับเซลล์บุเลือดฝอยร่วมกับผลการตอบสนองของร่างกายของผู้ป่วยต่อเชื้อ แต่ถ้าได้รับการรักษาและหายจากโรคแล้วมักจะหายเป็นปกติ ไม่มีอาการอื่นหลงเหลืออีกเลย  แต่ผู้ป่วยติดเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม มักเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้บ่อย เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดภาวะความเป็นกรดเกิน (metabolic acidosis) และเสียชีวิตจากปอดบวมน้ำ หรือไตวายได้ ผู้ป่วยด้วยเชื้อนี้ในระยะแรกของโรคจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องหรือท้องเดิน บางคนอาจมีไอหรือลักษณะคล้ายไข้หวัดได้ใน 4-5 วันแรกของโรค ไข้จะสูงลอยตลอดเวลา เนื่องจากการแตกของเม็ดเลือดแดงแต่ละชุดไม่พร้อมกัน แต่หลังจากเชื้อมาลาเรียเจริญอยู่ในระยะเดียวกันแล้ว เม็ดเลือดแดงจะแตกพร้อมกันทุก 42-48 ชั่วโมง  ผู้ป่วยอาจซีดและเหลือง ตับม้ามโต
  • พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ เป็นมาลาเรียชนิดที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่เป็นไวแวกซ์มาลาเรียมักจะไม่เสียชีวิต แต่ผู้ป่วยจะเป็นโรคซ้ำอีก อาการของผู้ป่วยพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ จะมีลักษณะคล้ายกับพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัมมาลาเรีย แต่จะพบหนาวสั่นได้บ่อยกว่า และขณะเกิดหนาวสั่น มักมีอาการปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อมาก ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอาการไข้จะค่อยๆ ทุเลาและหายได้ แต่จะเป็นซ้ำได้อีก ภายใน 2 ปี นานที่สุด 8 ปี เนื่องจากมีระยะฮิบโนซอยต์ซ่อนอยู่ในเซลล์ตับ
  • พลาสโมเดียม โอวาเล่ อาการทางคลินิกของผู้ป่วยที่ติดเชื้อชนิดโอวัลเล่ จะมีลักษณะคล้ายกับการติดเชื้อ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ แต่จะมีอาการน้อยกว่า และมีเชื้อกลับเป็นซ้ำน้อยกว่า ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาการไข้จะทุเลาและหายไปได้เอง แต่เป็นซ้ำได้อีกภายใน 1 ปี นานที่สุดถึง 5-8 ปี เนื่องจากมีระยะฮิบโนซอยต์ซ่อนอยู่ในเซลล์ตับ
  • พลาสโมเดียม มาลาริอี่ จะทำให้เกิดมีไข้หนาวสั่นวันเว้น 3 วัน คือมีไข้วันที่ 1 แล้วสบายอยู่ 3 วัน วันที่ 4 ผู้ป่วยมักไม่มีอาการรุนแรง และกว่าจะเกิดอาการไข้ อาจใช้เวลานานเป็นปี เชื้อพลาสโมเดียม มาลาริอี อยู่ในคนโดยมีจำนวนน้อยมากๆในกระแสเลือดได้เป็นเวลานานหลายปี มีรายงานว่านานถึง 53 ปี เชื้อนี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดกลุ่มอาการโรคไต (nephrotic syndrome) ได้
  • พลาสโมเดียม โนวไซ  อาการของโรค ในระยะแรกไม่มีลักษณะจำเพาะคือ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ท้องเดิน เนื่องจากเชื้อตัวนี้มีรอบของการแบ่งตัวสั้นที่สุดในบรรดาเชื้อมาลาเรียทั้งหมด คือ ใช้เวลาแบ่งตัว 1 รอบ เพียง 24 ชั่วโมง  ทำให้จำนวนเชื้อในเลือดมีจำนวนมาก (hyper-parasitaemia) ซึ่งอาจทำให้ตายหรือมีภาวะแทรกซ้อน โดยอาการทางคลินิกคล้ายกับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัม ส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกเชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียม โนวไซ ออกจากเชื้อพลาสโมเดียม มาลาริอีได้ เนื่องจากรูปร่างในระยะต่าง ๆ คล้ายกันมาก ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมาลาเรียชนิดมาลาริอีแต่ทีพบความหนาแน่นของเชื้อสูง ให้นึกถึงการติดเชื้อ พลาสโมเดียม โนวไซ ไว้ด้วย และต้องรีบให้การรักษาก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการแทรกซ้อนที่ยากต่อการรักษาได้ การตรวจด้วยวิธี พีซีอาร์ (PCR) หรือวิธีทางอิมมูโนวิทยาสามารถแยกเชื้ออกจากกันได้แต่จะใช้เวลาและต้องการเครื่องมือที่มีราคาสูง

การติดเชื้อผสม (mixed infections)

การติดเชื้อผสมที่พบได้บ่อยที่สุด คือเชื้อพลาสโมเดียม  ฟัลซิพารัม และ พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์  รายงานจากการตรวจเลือดผู้ป่วยทั่วประเทศไทยพบการติดเชื้อผสมของ พลาสโมเดียม ฟัสซิพารัม กับ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ โดยในระยะแรกพบเพียงร้อยละ 0.5 แต่รายงานจากโรงพยาบาลที่มีการติดตามผู้ป่วยติดเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม ภายหลังการรักษานานถึง 2 เดือน พบว่ามีอัตราการเป็นพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ สูงถึงร้อยละ 33 แสดงได้ว่าในระยะแรกอัตราการได้รับเชื้อผสม 2 ชนิด เกิดได้บ่อย แต่ตรวจไม่พบหรือตรวจแยกชนิดของมาลาเรียได้ยาก ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษามาลาเรียเพียงชนิดเดียว คือ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม แต่ภายหลังจึงพบว่าเป็นมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ ตามมาในอัตราที่สูง

การติดต่อของโรคมาลาเรีย

  1. ติดต่อโดยถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อระยะติดต่อกัด (mosquito biting) และปล่อยสปอโรซอยต์เข้าสู่กระแสเลือดคน เชื้อจะไปที่ตับก่อนเข้าสู่เม็ดเลือดแดง วิธีนี้เป็นวิธีธรรมชาติที่พบได้มากที่สุด
  2. ติดต่อจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์(congenital malaria) เด็กแรกเกิดได้รับเชื้อมาจากมารดาโดยตรงในขณะตั้งครรภ์ เชื่อว่าผ่านทางรกขณะแยกตัวออกจากมดลูก ระหว่างคลอด  เชื้อมาลาเรียที่พบเป็นเชื้อพบคือ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม และ พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ แต่จากรายงานพบว่าส่วนใหญ่เป็นพลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ อาการจะเกิดหลังจากคลอด ประมาณ 1 ถึง 3 สัปดาห์ โดยทารกแรกเกิดจะ มีไข้ ตับ ม้าม โต ซีด ตัวเหลือง ซึม ร้องกวนโยเย ไม่ดูดมม และอาเจียน การติดต่อวิธีนี้มักพบได้ในท้องที่ที่มีมาลาเรียชุกชุม กรณีเช่นนี้เชื้อจากเข้าสู่เม็ดแดงของแม่จะเข้าสู่เม็ดแดงของของลูกโดยไม่ผ่านตับ อาการจะเกิดหลังจากคลอด ประมาณ 1 ถึง 3 สัปดาห์  เชื้อมาลาเรียที่พบในทารกแรกเกิดและมารดาจะเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน
  3. ติดต่อจากการถ่ายเลือด (blood transfusion) จะพบในรายที่ผู้บริจาคโลหิตมีความหนาแน่นของเชื้อมาลาเรียในกระแสเลือดต่ำมากและไม่มีอาการ หากไม่ได้ทำการตรวจหาเชื้อมาลาเรียในเลือดของผู้บริจาคก่อนที่ผู้ป่วยที่จะรับการถ่ายเลือด ผู้ที่ได้รับเลือดจะป่วยเป็นมาลาเรียได้ โดยเชื้อจะเข้าสู่เม็ดแดงโดยไม่ผ่านตับ
  4. ติดต่อจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน (sharing syringe) มักพบในกลุ่มคนที่ติดเสพติด โดยใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน โดยเชื้อจะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงโดยไม่ผ่านตับ และเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน
  5. ติดต่อจากการรับการปลูกถ่ายอวัยวะ (organ transplantation) เช่น การปลูกถ่ายตับ วิธีนี้พบได้น้อยมาก
เนื่องจากถิ่นกำเนิดของยุงก้นปล่องนั้นอยู่ในป่า จึงพบผู้ป่วยในจังหวัดดังกล่าวข้างต้นมาก รวมทั้งคนที่เดินทางเข้าไปในป่าก็มีโอกาสได้รับเชื้อจากการถูกยุงกัด แต่ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ได้เข้าป่าจะไม่มีโอกาสเป็นโรคมาลาเรีย เพราะมีรายงานผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือแม้แต่ประเทศในเขตหนาว ทั้งนี้ เชื่อว่า ยุงที่เป็นพาหะ อาจเกาะติดมากับยานพาหนะ ที่เข้าไปในป่า เช่น รถยนต์ รถทัวร์ท่องเที่ยว รวมทั้งเครื่องบินที่ไปแวะจอดในที่ที่มีการระบาดของเชื้อมาลาเรียและยุงติดเชื้อติดไปกับเครื่องบิน (10)

การป้องกันควบคุมโรคมาลาเรีย

การป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้ติดเชื้อมาลาเรียเมื่อจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่แหล่งระบาดของมาลาเรีย และลดการแพร่เชื้อมาลาเรียจากผู้ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรียไปยังบุคคลอื่น มีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
  1. สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ
  2. ทายากันยุง  ทุกๆ 4 ชั่วโมง
  3. นอนในมุ้ง (ถ้าใช้มุ้งชุบน้ำยา จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน)
  4. ถ้านอนในห้องที่มีมุ้งลวด ควรพ่นยากันยุงก่อน

ควรกินยาป้องก้นเมื่อต้องเดินทางเข้าป่าหรือไม่ ?

การกินยาก่อนเข้าแหล่งระบาดมาลาเรีย ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคมาลาเรียแต่อย่างใด เนื่องจากเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยดื้อต่อยาหลายขนาน ทำให้ไม่มียาที่มีประสิทธิภาพสูง มีฤทธิ์ข้างเคียงน้อยและเหมาะสมที่จะใช้เป็นยารับประทานป้องกันมาลาเรียสำหรับประชาชนทั่วไป การกินยาเป็นเพียงแต่กดอาการไว้เท่านั้น เมื่อหยุดกินยาเชื้อจะออกมาในกระแสเลือดและเกิดอาการของโรคได้อีก ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้กินยาป้องกันแต่ให้เน้นมาตรการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัดด้วยวิธีต่างๆดังข้างต้น และควรจะรีบเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียเมื่อมีอาการไข้หรืออาการอื่นที่สงสัยว่าอาจเป็นไข้มาลาเรียภายใน7-14วัน หรือภายใน1-2เดือนหลังจากเดินทางออกจากแหล่งระบาด
ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปอยู่หรือต้องเข้าไปทำงานในบริเวณแหล่งระบาดนั้นๆเป็นเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูง อาจต้องกินยาป้องกัน แต่ไม่รับรองผลการป้องกัน 100 % โดยเลือกกินยาเพียงชนิดใดเพียงชนิดหนึ่ง ดังนี้
  1. ยาเมโฟลควิน (mefloquine) เม็ดละ 250 มิลลิกรัม กินสัปดาห์ละ 1 เม็ด โดยเริ่มกิน 1 สัปดาห์ก่อนจะเดินทางและกินติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์ จนกระทั่งเดินทางกลับมาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์
  2. ยาดอกซี่ไซคลิน (doxycycline) เม็ดละ 100 มิลลิกรัม กินวันละ 1 เม็ด เริ่มกิน 3-5 วันก่อนเดินทาง กินติดต่อกันทุกวัน จนกระทั่งเดินทางออกมาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

เหตุผลที่ไม่ควรกินยาป้องกันโรคมาลาเรีย

  1. ความเสี่ยงในการติดเชื้อมาลาเรียจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมีน้อยมาก ความชุกของมาลาเรียในประเทศไทยน้อยลงมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยแล้ว โอกาสติดน้อยมาก คือนักท่องเที่ยว 10,000 คน จะติดเพียง 1 คน เท่านั้น
  2. ปัจจุบันในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน พบปัญหาการดื้อยามาลาเรียมาก ทำให้การกินยาป้องกันมาลาเรีย ไม่สามารถป้องกันได้ 100 % และการกินยาอาจทำให้อาการของโรคมาลาเรียไม่ชัดเจน และทำให้เกิดปัญหาดื้อยาอย่างมากในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นคนกินยาเองอาจจะเชื่อมั่นผิดๆว่ากินยาแล้วไม่เป็นมาลาเรียเลยไม่ไปพบหมอ ทำให้การวินิจฉัยและการรักษายุ่งยากมากขึ้น  ซึ่งอาจเสียชีวิตได้
  3. ถ้าจะกินยาป้องกันมาลาเรียจริงๆ ต้องกินยาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นยาเมโฟลควิน (mefloquine) หรือ ด๊อกซี่ไซคลิน (doxycycline) ต้องกินหลังจากออกจากป่าอีกประมาณ 1 เดือน คนที่ไปเที่ยวป่า เช่นเขาใหญ่ก็ประมาณ 3-4 วัน หรือไม่เกินหนึ่งสัปดาห์  แต่ต้องกินยาป้องกันมาลาเรียเป็นเดือน จึงมีน้อยคนที่จะกินยาต่อโดยไม่มีอาการ ซึ่งจะก่อให้เชื้อพัฒนาการดื้อยานั้นๆในอนาคต นอกจากนื้ยังมีโอกาสเแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงได้
  4. ปัจจุบันในประเทศไทยมีการบริการด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี มีคลินิกมาลาเรียกระจายอยู่ในแหล่วระบาดทั่วประเทศ มีโรงพยาบาลและสถานีอนามัยอยู่ทั่วไป อีกทั้งการคมนาคมก็ดีขึ้นมาก  เวลามีอาการไข้เกิดขึ้น ก็สามารถไปหาหมอได้ทัน ทำให้วินิจฉัยและรักษาได้ทันการ
จากเหตุผลหลักๆทั้ง 4 ข้อ ทำให้ ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรียในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย  แต่ถ้าต้องเดินทางไปประเทศอื่นที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศแถบแอฟริกา ปาบัวนิกีนี ฯลฯ ควรต้องมาพบแพทย์เพื่อพิจารณากินยาป้องกันชนิดที่เหมาะสม

การรักษา  

การรักษามาลาเรีย แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
  1. การรักษาจำเพาะ คือการให้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรียที่เป็นระยะไร้เพศในเม็ดเลือดแดง การเลือกชนิดของยารักษา ควรพิจารณาประสิทธิภาพของยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย เนื่องจากการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ต่างๆมีความแตกต่างกัน
  2. ถ้าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเชื้อพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ หรือพลาสโมเดียม โอวาเล่ ต้องได้รับยาฆ่าระยะฮิบโนซอยต์ด้วย เพื่อการรักษาหายขาด
  3. การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อน คือ การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ป่วยยังมีเชื้อมาลาเรีย หรือภายหลังที่เชื้อมาลาเรียหมดแล้ว   โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อพลาสโมเดียม  ฟัลซิพารัม ถ้าได้รับการรักษาช้าไป จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าชนิดอื่นๆ
  4. การป้องกันการแพร่โรค คือ การใช้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรียระยะติดต่อไปสู่ยุง คือระยะแกมมีโตไซต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อยู่ในท้องที่ที่มียุงพาหะ
ข้อพึงจำไว้เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อมาลาเรียเมื่อเข้าไปในเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย
  1. อย่าให้ยุงกัด
  2. ไม่กินยาป้องกัน
  3. กลับออกมาจากแหล่งระบาดหรือในพื้นที่มี่คนเคยติดเชื้อมาลาเรียแล้ว เกิดมีอาการไข้  ปวดศีรษะ ห้ามซื้อยารับประทานเองให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจติดเชื้อมาลาเรีย ควรไปพบแพทย์ เจาะเลือดจากปลายนื้วเพื่อตรวจหาเชื้อและจำแนกชนิดของเชื้อ(เนื่องจากใช้ยาต่างชนิดกัน) เพื่อที่จะได้รับการรักษาด้วยยาที่ถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที  แม้ว่าผลการตรวจครั้งแรกจะให้ผลลบต่อเชื้อมาลาเรีย แต่ถ้ามีอาการดังกล่าวขึ้นภายในเวลา 1-2 เดือน และอาการที่เกิดขึ้นได้รับการวินิจฉัยแล้วไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้ออื่นๆ ขอแนะนำให้ไปตรวจหาเชื้อมาลาเรียซ้ำอีกครั้ง
malaria4รูปเชื้อมาลาเรีย P. faiciparumP. vivaxP. malariae , และ P. ovale  ตามลำดับ
malaria5รูปเชื้อมาลาเรีย P. knowlesi

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

ดีค่ะ วันนี้ก็ขอห่วงใยปัญหาสังคมหน่อยๆ เลยขอเสนอเกี่ยวกับเรื่องยาคุม แต่ในสมัยก่อนไม่ได้มียาคุมแบบเม็ด แล้วทำไมยังคุมกำเนิดได้ ทำได้ไงนะ



  ซิลเฟียม (SILPHIUM) ดูเหมือนจะเป็นยาคุมกำเนิดสุดเจ๋งในประวัติศาสตร์ มันเป็นต้นยี่หร่ายักษ์ที่ชาวกรีกและโรมันโบราณนิยมเอาใบของมันมาสกัดเป็นของเหลวเพื่อใช้เป็นยาคุมกำเนิด พวกเขาชื่นชอบวิธีควบคุมจำนวนประชากรด้วยซิลเฟียมเป็นอย่างยิ่งจนพืชชนิดนี้สูญพันธุ์ไปในที่สุด
     
       แต่ยังมี การคุมกำเนิดแบบพิสดารอื่นๆ ในประวัติศาสตร์อีกหลายอย่างที่ไม่ประสบความสำเร็จและดูเหลวไหลในสายตาของคนยุคปัจจุบัน มาดูกันว่ามีอะไรบ้างและโปรดอย่าลองทำเป็นอันขาด!
     
1. ลำไส้สัตว์
     
       อีกครั้งที่เราต้องยกย่องให้นักรักบันลือโลกแห่งศตวรรษที่ 18 อย่าง จิอาโคโน คาซาโนวา เป็นผู้มีความก้าวหน้าในเรื่องทางเลือกของการคุมกำเนิด คราวนี้เขาใช่ถุงยางคุมกำเนิดที่ทำจากลำไส้ของสัตว์
     
       คนโบราณนิยมนำลำไส้สัตว์และกระเพาะปลามาทำ CONDOM เช่นเดียวกับผ้าลินิน ว่ากันว่าใช้กันมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ (หรือก่อนนั้นด้วยซ้ำ) แต่จนกระทั่งศตวรรษที่17 นั่นแหละที่พวกเขาใช้มันเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์มากกว่าแค่ป้องกันกามโรค
     
       ถุงยางอนามัยสมัยใหม่เพิ่งวางตลาดในกลางศตวรรษที่19 นี้เอง หลังจาก ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ ค้นพบวิธีผสมกำมะถันลงในน้ำยางพาราเพื่อทำให้มันแข็งตัวในปี 1839
     
2. มะนาว
     
       ไม่น่าแปลกใจหรอกที่อย่าง จิอาโคโม คาซาโนวา มีความคิดเกี่ยวกับการคุมกำเนิด เขาอาจเป็นคนแรกที่ค้นพบสรรพคุณในการคุมกำเนิดของมะนาว
     
       น้ำมะนาวอุดมด้วยกรดซิตริค ซึ่งเป็นที่รู้กันในปัจจุบันว่าเป็น “นักฆ่าอสุจิ” ตัวฉกาจ จากการศึกษายุคใหม่พบว่า น้ำมะนาวทำให้อสุจิหยุดเคลื่อนไหวภายในไม่ถึง60วินาที ทำให้มันเป็นยาฆ่าอสุจิ (หรือสารฉีดล้างช่องคลอด) อันมีประสิทธิภาพ
     
       ตัวอสุจิส่วนใหญ่จะใช้เวลา 1 หรือ 2 วันในการว่ายเข้าถึงและปฏิสนธิกับไข่ที่รออยู่ แต่บางตัวอาจว่ายถึงไข่อย่างรวดเร็วใน 30 นาที ดังนั้นน้ำมะนาวจึงมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่ถึง 100% เปลือกมะนาวก็เช่นกัน มันถูกใช้เป็นเครื่องคุมกำเนิดแบบแนวปราการ โดยการสอดเปลือกมะนาวครึ่งซีก (บีบน้ำมะนาวและควักเนื้อออกก่อน) เข้าไปในช่องคลอด แล้วคุณจะได้หมวกครอบปากมดลูกแบบโบราณ แต่ช้าก่อน อย่าได้ลองเป็นอันขาด เพราะมันคุมกำเนิดไม่ได้ผล

3. การย่อเข่าและการจาม
     
       ชาวกรีกโบราณนอกจากจะให้รากฐานของประชาธิปไตยแก่ชาวโลก (แม้มันจะหยั่งรากอย่างยากเย็นในบางประเทศก็ตาม) จัดกีฬาโอลิมปิคครั้งแรกและมีความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรม ซึ่งถูกใช้ต่อเนื่องมาจนถึงสังคมปัจจุบันแล้ว พวกเขาก็ยังให้วิธีการคุมกำเนิดแบบพิสดารแก่เราอีกด้วย นั่นก็คือ การจาม
     
       โซเรนัส แพทย์กรีกโบราณอาจสงสัยในประสิทธิภาพการคุมกำเนิดของเครื่องราง แต่เขาก็ไม่อายในคำแนะนำให้ลองเขย่าอสุจิออกมาก่อนที่มันจะสามารถปฏิสนธิกับไข่ที่รออยู่ ไม่ใช่แค่การจามเท่านั้นที่เขาแนะนำ แต่ยังรวมถึงการย่อเข่า การกระโดดขึ้น- ลง หรือแม้แต่การเหวี่ยงขาเตะก้นตัวเอง ให้เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็อย่างที่เรารู้ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าคุณจามแทบสลบหลังจากมีเซ็กซ์ คุณก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้อยู่ดี

4. เพนนีรอยัล
     
       เพนนีรอยัล (PENNYROYAL) เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งในตระกูลสะระแหน่ ( MINT) และน้ำมันที่สกัดจากใบของมัน เคยถูกใช้มาตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ ในฐานะยาไล่ยุงและแมลง ใช้เป็นน้ำมันหอมระเหยและปรุงรสอาหาร
     
       น้ำชาเพนนีรอยัลยังถูกใช้เป็นยาคุมกำเนิดอีกด้วย แม้ว่ามันไม่ถูกใช้เป็นยาคุมกำเนิดโดยตรง แต่ผู้หญิงดื่มมันเป็นน้ำชาหลังเพศสัมพันธ์เพื่อพยายามแท้งบุตร มันได้ผลไหม?
     
       สารประกอบที่พบในเพนนีรอยัลซึ่งเรียกว่า PULEGONE นั้นปัจจุบันรู้กันดีว่าเป็นสารพิษ และสามารถเป็นสาเหตุของโรคลมชักขั้นโคม่า เป็นสาเหตุของตับอักเสบและหลอดเลือดหัวใจล้มเหลว และสามารถสร้างความบาดเจ็บให้แก่อวัยวะต่างๆได้ (อย่างรวดเร็วด้วย)
     
       แน่ละ มันอาจกระตุ้นมดลูกให้ตกเลือดประจำเดือนและทำลายการตั้งครรภ์ได้ แต่มันก็สามารถฆ่าคุณได้ในระหว่างกระบวนการดังกล่าว
     
5. ยาพอกเฮมล็อค
     
       เฮมล็อค (HEMLOCK) เคยถูกใช้อย่างหลากหลายในประวัติศาสตร์ เคยเชื่อกันว่ามันสามารถรักษามะเร็ง บรรเทาโรคซิฟิลิส รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างวัณโรคและรักษาเนื้องอกได้ นอกเหนือจากคุณประโยชน์ทางสุขภาพแล้ว ชาวกรีกโบราณยังใช้มันสำหรับประหารชีวิตนักโทษด้วย
     
       ในศตวรรษที่13 เปโดร ฮูลิอาโอ แพทย์ชาวปอร์ตุเกส ซึ่งต่อมากลายเป็น สันตะปาปา จอห์นที่ 21 เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “สมบัติของคนจน” ซึ่งเป็นตำราการรักษาโรคด้วยสมุนไพรสำหรับคนยากจนที่ต้องการความรู้ทางการแพทย์หรือตั้งใจจะเป็นแพทย์แต่ไม่มีเงินเรียนในระบบ
     
       นอกจากการรักษาโรคด้วยสมุนไพรแล้ว ยังมีวิธีคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายและผู้หญิงรวมอยู่ในตำราเล่มนั้นด้วย การคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายวิธีหนึ่งก็คือ การทายาพอกเฮมล็อคที่ลูกอัณฑะก่อนมีเซ็กซ์ ซึ่งว่ากันว่าจะทำให้ลูกอัณฑะหดและลดความกำหนัด
     
       โชคดีที่ปัจจุบัน ตำราเล่มนั้นไม่มีใครเชื่อถืออีกแล้ว

 6. มูลจระเข้
     
       กาลครั้งหนึ่ง มูลสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลจระเข้ ถูกเชื่อว่ามีพลังอำนาจพิเศษ ความเชื่อนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้หญิงอียิปต์และอินเดียโบราณ ส่วนหนึ่งในนิยายปรัมปราของมันก็คือ การกล่าวอ้างที่ว่า มูลจระเข้สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ และผู้หญิงผสมมันกับน้ำผึ้ง (และอาจมี โซเดียมคาร์บอเนตนิดหน่อย) แล้วสอดลูกกลอนนั้นเข้าไปในช่องคลอดเป็นยาเหน็บ

       มันอาจไม่ใช่ความเชื่อที่เหลวไหลซะทีเดียว และก็ไม่ใช่กลิ่นของมันที่ป้องกันการตั้งครรภ์โดยการทำให้ผู้ชายหมดอารมณ์พิศวาสหรอก เพราะมีการพบว่ามูลจระเข้มีความเป็นกรดสูงและความเป็นด่างของมันอาจมีคุณสมบัติเป็นสารฆ่าอสุจิ ตัวมูลเองก็อาจสกัดกั้นอสุจิบางตัวมิให้ว่ายไปถึงจุดหมายปลายทางของพวกมันได้ด้วย
     
       ขอบคุณพระเจ้าที่ความเชื่อนี้กลายเป็นความเหลวไหลไปแล้ว
     
7. อัณฑะวีเซล
     
       นี่คือ การคุมกำเนิดอีกวิธีหนึ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในยุคกลาง (ประมาณ ค.ศ. 1200-1500) มีความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดยการผูกเครื่องรางชนิดหนึ่งไว้ที่ต้นขา
     
       เครื่องรางวิเศษนี้ทำจากลูกอัณฑะทั้งสองของวีเซล (สัตว์ป่าตัวเท่าแมวแต่หน้าเหมือนหนู) และ/หรือ กระดูกซี่โครงของแมวดำปลอด (ข้อนี้สำคัญ ต้องเป็นแมวดำทั้งตัวเท่านั้น) และขี้หูของล่อ (ลูกของลาตัวผู้กับม้าตัวเมีย)
     
       ตามตำราไสยศาสตร์ผู้หญิงสามารถหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ได้โดยการห้อยอัณฑะวีเซลไว้ที่คอ ถ้าเธอไม่มีขี้หูล่อ หรือแมวดำ
     
       วีเซลทั่วโลกน่าจะขอบคุณมนุษย์ที่ วิธีคุมกำเนิดแบบนี้ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปแล้ว
     
8. โคคา-โคล่า

       การฉีดล้างช่องคลอด เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้หญิงกรีกและโรมันโบราณ และยังเป็นวิธีที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมสมัยใหม่ด้วยซ้ำ (แม้ว่าจะผสมคาร์บอนเนตมากขึ้นก็ตาม) ในตอนที่เข้าสู่ยุคแห่งการฉีดล้างช่องคลอดด้วยโคคา-โคล่า ซึ่งนิยมทำกันระหว่างทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 โดยวิธี “เขย่าแล้วฉีด”
     
       โคคา-โคล่าที่บรรจุขวดแก้วแบบนักแข่งรถชอบทำกับขวดแชมเปญหลังรับรางวัลชนะเลิศนั่นแหละ
     
       ในปี 2008 มันถูกค้นพบอย่างน่าประหลาดใจว่าโคคา-โคล่า ฆ่าอสุจิได้จริงๆ แต่สูตร DIET COKE ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพราะโค้กที่ทำด้วยน้ำตาลจะฆ่าอสุจิได้ดีพอในหลอดทดลอง
     
       แต่ในช่องคลอดมันไม่สามารถฆ่าอสุจิได้เร็วพอ จึงปล่อยให้อสุจิจำนวนหนึ่งว่ายต่อไปได้ กลายเป็นทางเลือกที่ไม่ดีพอสำหรับการคุมกำเนิด (และนั่นยังไม่รวมถึงปัญหาทางสุขภาพอันเกิดจากการเอาปากขวดเครื่องดื่มแหย่เข้าไปในช่องคลอดของคุณ)

9. ยาเหน็บอะเคเซียกับน้ำผึ้ง
     
       ชาวอียิปต์โบราณอาจเป็นประชากรโลกพวกแรกที่ใช้วิธีคุมกำเนิดแบบสิ่งกีดขวาง มีหลักฐานที่เขียนไว้ในกระดาษปาปิรัส เมื่อ 1550 ปี ก่อน ค.ศ. เรื่องผู้หญิงใช้ยาเหน็บช่องคลอดที่ทำจากใบอะเคเซีย (พืชจำพวกต้นยางอาหรับ) ผลอินทผลัมและน้ำผึ้งเพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์
     
       เส้นใยอย่างขนสัตว์หรือฝ้ายเคยถูกคลุกเคล้าด้วยส่วนผสมของใบอะเคเซีย อินทผลัมและน้ำผึ้งแล้วสอดเข้าไปในช่องคลอดคล้ายๆ ผ้าอนามัยแบบสอด (TAMPON) ยาเหน็บแบบนี้ฟังดูบ้าดี เมื่อมันถูกสอดเข้าที่มันก็จะทำหน้าที่เหมือนหมวกปากมดลูกของสมัยใหม่อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ
     
       เส้นใยจะสกัดกั้นอสุจิมิให้เข้าสู่ปากมดลูก และน้ำผึ้งจะยึดยาคุมกำเนิดชนิดนี้ให้อยู่กับที่ แต่ใบอะเคเซียของมันนี่เองที่เป็นตัวยาคุมกำเนิดอันมีประสิทธิภาพ จากการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าอะเคเซียเมื่อถูกหมัก จะมีกรดแลคติก ซึ่ง เมื่อสัมผัสกับอสุจิจะทำให้มันหยุดการเคลื่อนไหว ไม่สามารถว่ายไปหาไข่ได้ ทำให้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้เป็น ยาฆ่าอสุจิตำรับแรก
     
       แต่ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว ผลอิทผลัมกับน้ำผึ้งจึงถูกกินอย่างหอมหวานเพียงอย่างเดียว
     
10. ไลซอล
     
       คุณอาจใช้ไลซอล (LYSOL) สำหรับทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในห้องน้ำหรือบนพื้นห้อง แต่กาลครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ มันถูกใช้เป็นยาคุมกำเนิดเช่นกัน
     
       ไลซอลโฆษณาน้ำยาฆ่าเชื้อของมันว่าเป็นผลิตภัณฑ์อนามัยสำหรับผู้หญิงในต้นศตวรรษ ที่ 20 และระหว่างทศวรรษที่ 1930 กับ 1960 เมื่อยาคุมกำเนิดแบบกินทางปากปรากฏตัวครั้งแรกในตลาด และการฉีดล้างช่องคลอดด้วยไลซอล เป็นทางเลือกยอดนิยมในการคุมกำเนิดของผู้หญิง
     
       จนกระทั่งในทศวรรษที่ 1950 ไลซอลบรรจุส่วนผสมที่เรียกว่าเครซอล (CRESOL) ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ พุพอง แสบร้อนและมีพิษถึงตายได้ ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับสูตรนุ่มนวลที่โฆษณาโดยผู้ผลิต หลังปี 1953 พวกเขาก็เปลี่ยนสูตร แต่มันก็ยังมีอันตรายเมื่อใช้กับร่างกายมนุษย์ทั้งภายในและภายนอก และนอกจากผลกระทบอันเป็นพิษของมันแล้ว ไลซอลก็ไม่ใช่ยาคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด
     
       ทั้งหมดนี้จึงเป็นอุทาหรณ์สอนใจคุณผู้หญิงในยุคปัจจุบันว่า ก่อนที่จะเอาอะไรใส่เข้าไปในน้องหนู โปรดพิเคราะห์ดูให้รอบคอบว่าสมควรปล่อยให้มันเข้าไปหรือไม่




Comment

เรื่องเล่าโพสเมื่อ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

Popular Posts

Contact Us

ถ้าข้อความใดไม่ถูกต้องแจ้งได้ที่
Mail : mbkrattanakorn@gmail.com