วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ถือเป็นวันอันเป็นศิริมงคลยิ่งสำหรับปวงชนชาวไทย ที่มีโอกาสได้เห็นและได้ร่วมชื่นชมในพระราชพิธี “ราชาภิเษกสมรส” ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศในขณะนั้น) แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในครั้งนั้น เป็นพระราชพิธีที่เรียบง่ายและแทบจะเรียกได้ว่า “สิ้นเปลืองน้อยที่สุดในโลก”
พระธำมรงค์องค์เก่า
ย้อนกลับไปขณะที่ทั้งสองพระองค์ พักอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ท่านผู้หญิงเกนหลงเล่าไว้ใน ‘บันทึก เป็น อยู่ คือฯ’ ว่า
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และครอบครัวมาเฝ้าฯ และทรงมอบหมายให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริเป็นผู้ทูลทาบทามเรื่องที่จะทรงขอหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
เมื่อสมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคลแล้ว พระราชพิธีทรงหมั้น จัดขึ้นเป็นการภายในอย่างเรียบง่าย ที่โรงแรมวินด์เซอร์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสวมพระธำมรงค์เป็นของหมั้นแด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ โดยพระธำมรงค์ซึ่งทรงใช้หมั้น เป็นพระธำมรงค์องค์เก่า องค์เดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงใช้หมั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีมาก่อน
–
ไม่โปรดงานเอิกเกริก
หลังจากทรงหมั้น และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กลับมาอยู่ที่พระตำหนักหม่อมเจ้านักขัตรมงคลพร้อมครอบครัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ไม่โปรดให้พระคู่หมั้นไปงานเป็นการเอิกเกริก ท่านผู้หญิงเกนหลงเล่าว่า “โปรดที่จะเสด็จฯมาในตอนเย็น เพื่อร่วมเสวยพระสุธารสกับพระคู่หมั้น ณ กลางสนามพระตำหนักเทเวศน์ ท่ามกลางความสงบสุขร่มเย็นของสายลมจากแม่น้ำเจ้าพระยา”
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ จัดขึ้น ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปรุม สถานที่ซึ่งเคยจัดการอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาก่อน
พระราชพิธีเรียบง่าย เริ่มขึ้นจากตอนเช้าหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ทรงพาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยใน ‘สมุดทะเบียนราชาภิเษกสมรส’ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและหม่อมหลวงบัว ลงพระนามและลงนามตามลำดับ
–
–
แล้ว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำเสด็จฯหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ขึ้นเฝ้าถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ แด่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่เฉลียงพระตำหนักชั้นบน สมเด็จพระพันวัสสาฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์ และทรงเจิมแด่
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงเจิมแก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
–
หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรม
หาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
ตอนค่ำวันนั้นมีพระราชทานเลี้ยงบนพระตำหนักเป็นการภายในระหว่างพระญาติสนิท และข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดไม่เกิน 20 คน ทรงเป็นแบบอย่างการเริ่มต้นสร้างครอบครัวอย่าง “สิ้นเปลืองน้อย” มาตั้งแต่วันแรกที่ทรงเริ่มต้นใช้ “ชีวิตคู่”
หาก “การแต่งงาน” ของสามัญชนทั่วไป เป็นเสมือนการประกาศเจตนารมณ์ของคนสองคนที่มั่นใจในความรักระหว่างกัน ว่าจะร่วมสร้างครอบครัว และอยู่เคียงข้าง ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันตลอดไป พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของ “ในหลวง” และ “พระราชินี” ก็เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ “ครอบครัว” ของทั้งสองพระองค์มีความหมายกว้างไกลครอบคลุมไปถึงพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ สมดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
เรียบเรียง:
dichan.mthai
Source: กองบรรณาธิการนิตยสาร
“ดิฉัน” ฉบับ 722 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2552